ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ช่วยผู้เสียหาย ! “หน่วงเงิน” ชะลอการโอน 72 ชม. ก่อนโดนดูดจากบัญชี


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

1 ส.ค. 67

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

ช่วยผู้เสียหาย ! “หน่วงเงิน” ชะลอการโอน 72 ชม. ก่อนโดนดูดจากบัญชี

https://www.thaipbsbeta.com/now/content/1459

ช่วยผู้เสียหาย ! “หน่วงเงิน” ชะลอการโอน 72 ชม. ก่อนโดนดูดจากบัญชี
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ณ ขณะนี้ แม้จะมีหลายหน่วยงานออกมาตรการเพื่อจัดการกับภัยทุจริตการเงินออนไลน์ แต่ยอดผู้เสียหายกลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสถิติผู้เสียหายและมูลค่าความเสียหายที่มียอดสูงมาก โดยปัญหาภัยทุจริตทางการเงิน ตั้งแต่ ก.ค. 64 - มิ.ย. 67 ข้อมูลจาก “สภาผู้บริโภค” เปิดเผยว่า มีผู้เสียหายทั้งหมด รวมกว่า 2,189 กรณี

โดยแยกเป็น แอปฯ เงินกู้ 1,184 กรณี, ธนาคารพาณิชย์ 290 กรณี, ลงทุนออนไลน์ 259 กรณี, สินทรัพย์ดิจิทัล 229 กรณี, หลอกให้ทำงานออนไลน์ 171 กรณี, แอปฯ เติมเงินออนไลน์ 56 กรณี ซึ่งคาดว่าในความเป็นจริงน่าจะมีผู้เสียหายที่ไม่ได้รวมอยู่ในสถิตินี้อีกจำนวนไม่น้อย

เพื่อหยุดปัญหาและหยุดจำนวนผู้เสียหาย “สภาผู้บริโภค” จึงคิดและนำเสนอมาตรการ “หน่วงเงินก่อนโอน” (Delayed Transaction) ในยอดเงินโอนสูงเกิน 10,000 บาท เพื่อให้ธนาคารชะลอการโอนเงินออนไลน์ไว้เป็นเวลา 72 ชั่วโมง เป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคได้มีเวลาตรวจสอบเพื่อป้องกันเหตุ “มิจฉาชีพ” โอนเงินออกจากบัญชีของเหยื่อไปเข้า “บัญชีม้า” ได้ทันที และให้ธนาคารมีเวลาในการตรวจเช็กบัญชีเหล่านั้นว่าเข้าข่ายมิจฉาชีพหรือไม่

มาตรการข้างต้นจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนร่วมผลักดัน ดังนั้น เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 67 “สภาผู้บริโภค” จึงได้ทำการระดมสมองต่อเนื่องด้วยการจัดประชุมหารือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในประเด็น “มาตรการหน่วงเงิน พร้อมเสนอแนวทางจัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อป้องกันภัยในยุคดิจิทัล รวมถึงการเสนอมาตรการ “หน่วงเงิน” (Delayed Transaction) และการบังคับใช้ประกาศ กสทช. ในการป้องกันปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์และซิมบ็อกซ์ (SIMBOX) ที่กำลังระบาดและส่งผลกระทบกับผู้บริโภคอย่างมาก

โดยถึงแม้การโอนเงินและการใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อติดต่อสื่อสารมีความสะดวก รวดเร็ว แต่ในอีกทางความสะดวกรวดเร็วเหล่านี้อาจทำให้เราหลงลืมถึงความปลอดภัย จนอาจกลายเป็นช่องว่างให้มิจฉาชีพนำมาหลอกลวงและก่อให้เกิดความเสี่ยงแก่ผู้บริโภคได้ นี่คือข้อสรุปในเวทีประชุมหารือข้างต้นเกี่ยวกับประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับระบบการเงินและระบบโทรคมนาคมจนทำผู้บริโภคจำนวนมากต่างตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพยุคไซเบอร์ที่พยายามหาช่องทางและช่องโหว่เข้ามาหลอกลวงผ่านหลากหลายรูปแบบกลโกง

พล.ต.ต. ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กล่าวว่า ระบบการเงินของไทยถูกออกแบบให้ถึงปลายทางรวดเร็วที่สุด สะดวกที่สุด แต่อาจไม่ได้ดูความปลอดภัยควบคู่ กลายเป็นช่องว่างให้มิจฉาชีพใช้มาหลอกลวงจนทำให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้งาน ขณะที่ในต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น การเปิดบัญชีหรือการโอนเงินก้อนใหญ่ในอังกฤษมีหลายขั้นตอน ทั้งการนำทั้งหนังสือเดินทาง (Passport) และจะต้องมีหนังสือรับรองจากสถานทูตเพื่อยืนยันก่อนทำธุรกรรมใด ๆ

ส่วนในประเทศญี่ปุ่นที่แม้จะมีระบบการเงินที่ล้าหลังกว่าไทย แต่เรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้งานมีความสำคัญมากกว่า หากอ้างอิงจากรายงานประจำปี 2566 ของฮูส์คอลล์ (Whoscall) ระบุว่า คนญี่ปุ่นถูกหลอกและได้รับความเสียหายน้อยมากเมื่อเทียบกับไทย ดังนั้น การผลักดันมาตรการหน่วงเงินเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค โดยเฉพาะในกรณีที่กำลังจะทำธุรกรรมคราวละมาก ๆ ซึ่งมองว่าเป็นหนึ่งในวิธีการป้องกันและเพิ่มความปลอดภัยในการทำธุรกรรมได้อีกด้วย แต่เสนอให้มีการแจ้งไปที่บัญชีปลายทางเป็นเครดิตหรือข้อความแจ้งว่ามีผู้โอนเงินเข้ามาแล้ว แต่ยังไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างตรวจสอบของธนาคาร เพื่อสร้างความลดความกังวลของปลายทางกรณีที่เป็นร้านค้าหรือบัญชีที่สุจริต

นอกจากนี้ ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.สอท. เสนอให้ธนาคารกำหนดมาตรการโอนเงินเกิน 1 หมื่นบาท ต้องมีชุดรหัสผ่านแบบใช้ครั้งเดียว (OTP) ทุกครั้ง หลังพบว่า มิจฉาชีพมักแสวงหาเทคนิคต่าง ๆ ที่อาจคาดไม่ถึงมาหลอกลวง ได้แก่ มาตรการเปิดบัญชีเพื่อทำธุรกรรมบนแอปพลิเคชันมือถือ (โมบาย แบงก์กิ้ง) และการจำกัดการเปิดใช้โมบาย แบงก์กิ้ง ไม่เกิน 2 บัญชีต่อ 1 คนเท่านั้น แต่หากมีเหตุจำเป็นต้องมีหนังสือรับรองจากหน่วยงานที่สังกัด เนื่องจากปัจจุบันพบสถิติจากการจับกุมมิจฉาชีพรายหนึ่งพบการเปิดบัญชีม้าสูงถึง 78 บัญชี

อย่างไรก็ตาม เสียงสะท้อนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เข้าร่วมเวทีฯ ต่างยินดีและตอบรับใน “มาตรการหน่วงเงิน” ของสภาผู้บริโภค ที่มองว่าเป็นประโยชน์และจะช่วยลดความเสียหายของผู้บริโภคระหว่างการโอนเงินไปยังปลายทางที่อาจเป็นมิจฉาชีพมีจำนวนที่ลดลงได้ แต่หลายหน่วยงานลงความเห็นว่าการจัดทำมาตรการดังกล่าวยังพบข้อจำกัดหลายส่วนที่ไม่สามารถดำเนินการได้ในทันที และต้องใช้เวลาศึกษาและวิเคราะห์ทั้งในส่วนโครงสร้างพื้นฐานของระบบการเงินไทย การใช้มาตรการที่อาจแตกต่างไปในแต่ละบุคคลเนื่องมาจากพฤติกรรมการใช้จ่าย และความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้เกิดมาตรการนี้ขึ้นได้

ทั้งนี้ ในระหว่างการศึกษามาตรการ “หน่วงเงิน” หน่วยงานที่กำกับดูแลระบบการเงินหลักอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้พร้อมเดินหน้ากับมาตรการลดความเสี่ยงจากการทำธุรกรรมที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มเปราะบาง เช่น พ่อแม่ ผู้สูงอายุ ญาติ เป็นต้น สำหรับการให้ลูกหลานช่วยยืนยันอีกชั้นสำหรับการโอนเงินได้ คาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ได้ภายในเดือน ต.ค. 67

นอกจากนี้ภายในเวทีประชุมหารือยังได้แลกเปลี่ยน รวมถึงการระดมข้อเสนอเพื่อจัดการกับปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่มีการเสนอจัดทำฐานข้อมูลกลางที่เปิดให้ผู้บริโภคสามารถตรวจเช็กข้อมูลเตือนภัย ผู้ให้บริการและภาครัฐแลกเปลี่ยนข้อมูลจัดการปัญหามิจฉาชีพหลอกลวง เสนอหน่วยงานกำกับดูแลด้านกิจการโทรคมนาคมดันเป็นวาระในที่ประชุม สอดส่อง เฝ้าระวัง รายงาน ฟ้องศาล จับกุม และปราบปรามอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในประเด็นปัญหาการนำซิมบ็อกซ์เป็นช่องทางในการหลอกลวงผู้บริโภค พร้อมรายงานข้อมูลและแจ้งเตือนภัยต่อสาธารณะในทุกช่องทางการสื่อสาร

พาไปรู้จัก 3 แนวทางมาตรการ “หน่วงเงิน” เพื่อช่วยเหลือผู้เสียหาย

สำหรับ แนวทางการ “หน่วงเงิน” มี 3 มาตรการ หนทางสู้โจรไซเบอร์ มีดังนี้

1.  ขอให้ออกประกาศหรือออกระเบียบให้สถาบันการเงินทุกประเภทดำเนินมาตรการ Slow payment หรือ Delayed Transaction อย่างน้อย 72 ชั่วโมง หรือเมื่อเจ้าของบัญชีแสดงตัวที่สำนักงานสาขาว่าไม่ต้องการใช้มาตรการนี้

2. ขอให้นำระบบการจ่ายเงินผ่านนิติบุคคลทที่ 3 ที่เป็นตัวกลาง (Escrow) มาใช้ในการซื้อขาย ออนไลน์

3. ขอให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบ และนโยบายตามแนวทางของกฎหมายต่างประเทศหรือประเทศที่มีบริบทปัญหาคล้ายกับประเทศไทย

ขณะที่ “มาตรการแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์” สภาผู้บริโภคเสนอว่าควรมี 7 แนวทางได้แก่

1. การออกมาตรการสำหรับผู้ที่ถือครองซิมการ์ดมากกว่า 5 เลขหมายต้องลงทะเบียนใหม่ 
2. การจัดการเรื่องเอสเอ็มเอส (SMS) หลอกลวง ด้วย การลงทะเบียนชื่อผู้ส่ง (Sender name) 
3. การจัดทำระบบ Scam Alert 
4. การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 
5. การพัฒนาบริการแทนบัตร “Mobile ID” 
6. การดำเนินการกวาดล้างสถานีโทรคมนาคมและเสาสัญญาณเถื่อนแนวชายแดนและการจับกุมการจำหน่ายซิมการ์ดโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ลงทะเบียนการใช้งานโดยใช้ชื่อบุคคลอื่น
7. การบังคับใช้กฎหมายและการปรับปรุงกฎหมาย - พ.ร.ก. ควบคุมการใช้ซิมปลอมและบัญชีม้าที่มีอัตราโทษสูงขึ้นกำหนดให้ทุกซิม

ส่วนที่ “มิจฉาชีพ” มีการพัฒนาเบอร์โทรศัพท์มาจากต่างประเทศเป็นเลขหมาย 08 หรือ 09 ทำให้ไม่สามารถแยกได้ว่า เป็นเลขหมายของแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือว่าเป็นการใช้งาน VOIP ปกติ ควรมี 3 แนวทางแก้ไขคือ

1. เร่งดำเนินการตรวจสอบการขออนุญาตนำเข้าและใช้ซิมบ็อกซ์ และหากผู้ให้บริการโทรคมนาคมพบข้อมูลว่ามีการใช้งานซิมบ็อกซ์ที่ผิดปกติ ต้องแจ้งให้ กสทช. เพื่อระงับการใช้งานทันที

2. สื่อสารและประชาสัมพันธ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเผยแพร่และเตือนภัยเกี่ยวกับซิมบ็อกซ์เถื่อน เพื่อสร้างความตระหนักรู้และรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพให้แก่ประชาชน

3. จัดทำแนวทางการบูรณาการและประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เพื่อป้องกันปัญหา และจัดการปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์และการส่งข้อความสั้นหลอกลวง เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล เบาะแส และการตรวจสอบ

ขณะที่ “เจ้าของบัญชีเงินฝาก” ต้อง “ได้เงินคืน” จากการถูกมิจฉาชีพหลอกลวง

สำหรับ “เจ้าของบัญชีเงินฝาก” ที่ถูกมิจฉาชีพหลอกลวง ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พบว่า ต้อง “ได้เงินคืน” เนื่องจากขณะนี้มีมูลค่าความเสียหายกว่า 5.9 หมื่นล้านบาท แต่ได้รับเงินคืนเพียง 4% เท่านั้น โดยในระยะสั้น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กำหนดหลักเกณฑ์ความผิดพลาด หรือความบกพร่องของธนาคารให้ชัดเจน หากการกระทำของมิจฉาชีพเข้าหลักเกณฑ์ความผิดพลาด หรือความบกพร่องของธนาคารให้ธนาคารคืนเงิน ให้แก่ผู้เสียหายทันที

ส่วนในระยะยาว กระทรวง DE จะแก้ไข พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปราม อาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 โดยเพิ่มเติม หมวดเยียวยาความเสียหาย เมื่อธนาคารตรวจสอบพบว่าการเงินหายจากบัญชีธนาคารเกิดจากเหตุอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือภัยทุจริตทางการเงิน (ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ให้ธนาคารเจ้าของบัญชีคืนเงินให้แก่ผู้เสียหายทันที

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : เวทีสาธารณะ “ดันมาตรการหน่วงเงิน พร้อมเสนอทางแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์” จัดโดย องค์กรสภาของผู้บริโภค

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

หน่วงเงินมาตรการหน่วงเงินหน่วงเงินก่อนโอนDelayed Transactionสภาผู้บริโภคมิจฉาชีพโอนเงินให้มิจฉาชีพหลอกโอนเงินหลอกลวงโอนเงินThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Cyber Security CybersecurityTips & Trick, How to
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เซบา บาสตี้ : เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover (ติดต่อ jiraphob.thawisoonsong@gmail.com หรือ 0854129703)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด