ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เราอาจรู้จักภาษากรีกมากกว่าคำว่าเด็ก “เจนเบตา (Gen Beta)”


Lifestyle

6 ม.ค. 68

พีรชัย พสุทันท์

Logo Thai PBS
แชร์

เราอาจรู้จักภาษากรีกมากกว่าคำว่าเด็ก “เจนเบตา (Gen Beta)”

https://www.thaipbsbeta.com/now/content/2131

เราอาจรู้จักภาษากรีกมากกว่าคำว่าเด็ก “เจนเบตา (Gen Beta)”
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ตั้งแต่เปิดปีใหม่ที่ผ่านมา คำ ๆ หนึ่งที่ผู้คนให้ความสนใจคือ “เจเนอเรชันเบตา (Generation Beta)” อันหมายถึงประชากรโลกที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2568-2582 (ค.ศ. 2025-2039) ต่อจากคนยุค “อัลฟา (Generation Alpha – คนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2553-2567)” 

ทั้งอัลฟาและเบตามาจากตัวอักษรภาษากรีกตัวแรก (α) และตัวที่สอง (β – อ่านว่า “วีตา” ในภาษากรีก) ตามลำดับ แต่ที่จริงแล้ว เราอาจเห็นตัวอักษรเบตา รวมถึงคำศัพท์อื่น ๆ ในภาษากรีกบ่อยกว่าที่คิดโดยไม่รู้ตัว

กรีก (ελληνικά – “เอลลินิกา”) นับได้ว่าเป็นภาษาที่พัฒนาพร้อมกับอารยธรรม วิทยาการ และองค์ความรู้หลายแขนงมานับตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ ดังนั้น จึงมีการนำตัวอักษรกรีกมาใช้เป็นสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่เราอาจเคยพบเจอในตำราเรียน เช่น ตัวอักษร “π” (ปี) พิมพ์เล็กซึ่งแทนค่าพาย 3.14  ตัวอักษร “Σ” (ซิกมา) พิมพ์ใหญ่ที่หมายถึงการรวมค่าสมการฟิสิกส์ และตัวอักษร “Ψ” (ปซี) ที่เป็นสัญลักษณ์ของจิตวิทยา

เบตาก็มีความสำคัญและเป็นที่รู้จักไม่แพ้ตัวอักษรกรีกอื่น ๆ ในวงการการเงิน เบตา (β) เป็นค่าแทนความผันผวนของราคาหุ้นเมื่อเทียบกับตลาด ขณะที่คำว่า เบตา (Beta) ในแวดวงไอทีหมายถึงขั้นทดลองของการพัฒนา ส่วนในสำนวนภาษาอังกฤษ วลี “beta male” นั้นหมายถึงผู้ชายที่ชอบเป็นช้างเท้าหลัง  และเมื่อสามปีก่อน เบตาคือสายพันธุ์หนึ่งของโคโรนาไวรัส หลังจากที่องค์การอนามัยโลกเปลี่ยนระบบชื่อเรียกสายพันธุ์ต่าง ๆ ของเชื้อ COVID-19 โดยใช้อักษรกรีกแทนการเรียกชื่อประเทศที่พบเพื่อลดอคติและการเกลียดชังต่อประเทศที่มีการพบเชื้อ

สำหรับชื่อเรียกเด็ก “เจนเบตา” มาร์ค แมคครินเดิล (Mark McCrindle) นักวิเคราะห์ด้านสังคมและประชากรระบุว่า การเลือกใช้อักษรกรีกมาตั้งชื่อเจนอัลฟาและเบตานั้นล้อไปตามหลักการตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ ที่สำคัญคือคนเจนอัลฟาและเบตาเป็นคนรุ่นแรกที่เติบโตขึ้นพร้อมวิทยาการดิจิทัลอย่างเต็มตัว ดังนั้น การไล่ชื่อเจเนอเรชันใหม่ตามตัวอักษร ABC ในภาษาอังกฤษต่อจากเจนเอกซ์ (Gen X) เจนวาย (Gen Y) และเจนซี (Gen Z) นั้น จึงไม่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอีกต่อไป

 

อิทธิพลของภาษากรีกนอกจากตัวอักษร “เบตา”

นอกจากตัวอักษรเบตาแล้ว คำศัพท์กรีกยังเป็นรากศัพท์และส่งอิทธิพลต่อภาษาต่าง ๆ แม้จะไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่า ภาษากรีกมีอิทธิพลต่อภาษาไทยหรือภาษาในแถบเอเชียอย่างไรบ้าง แต่คำศัพท์ไทยหลายคำก็คล้ายคลึงหรือมีความหมายเดียวกับศัพท์ในภาษากรีก ในที่นี้จะยกตัวอย่างศัพท์เทียบเคียงกับภาษากรีกสมัยใหม่ – ซึ่งผ่านการปฏิรูปเมื่อ 49 ปีก่อนหลังจากสิ้นสุดยุคเผด็จการทางทหารระหว่างปี ค.ศ. 1967-1974 (พ.ศ. 2510-2517) – และพยางค์ที่ขีดเส้นใต้ในคำอ่านคือพยางค์เน้นเสียงหนัก

  • ตรี, ไตร คล้ายกับ “τρία” (ตรีอา = เลข 3)
  • ดูโอ คล้ายกับ “δύο” (ดีโอ = เลข 2)
  • สบู่ คล้ายกับ “σαπούνι” (สปูนิ)
  • โทรทัศน์ คล้ายกับ “τηλεόραση” (ติเลโอราซิ)
  • อากาศ คล้ายกับ “αέρας” (อาเอราส = ลม, อากาศ)
  • กระดาษ คล้ายกับ “χαρτί” (ฆารติ)
  • กล่อง คล้ายกับ “κουτί” (กูติ)
  • บิดา คล้ายกับ “πατέρας” (ปาเตราส)
  • มารดา คล้ายกับ “μητέρα” (มิเตรา)
  • ปลา คล้ายกับ “ψάρι” (ปซาริ)
  • ภาษา คล้ายกับ “γλώσσα” (โกลซซา = ภาษา, ลิ้น)
  • เทวา คล้ายกับ “θεά” (เตอา = เทพี ส่วนเทพ คือคำว่า “θέος - เตโอส”)
  • คำนำหน้า มหา- คล้ายกับ μεγάλος (เมกาโลส = ใหญ่โต)

 

อย่างไรก็ดี ภาษาที่ได้รับอิทธิพลจากภาษากรีกมากที่สุดภาษาหนึ่งคือ ภาษาอังกฤษ ลักษณะส่วนใหญ่เป็นคำยืม (loan words) รวมถึงการสร้างคำนำหน้า (prefix) และคำต่อท้าย (suffix) จากภาษากรีกโบราณ ในที่นี้จะยกตัวอย่างศัพท์ที่เรามักจะได้ยินหรือเห็นบ่อย ๆ ในข่าว

คัพท์ที่มีคำต่อท้าย “-phobia” จากคำนาม “φοβία (โฟบียา = ความกลัว)” เช่น

  • xenophobia (ความเกลียดกลัวต่างชาติ): “xeno” จากคุณศัพท์ “ξενός” (เซกโนส = ชาวต่างชาติ, แปลกแยก)
  • homophobia (ความเกลียดกลัวต่อความหลากหลายทางเพศ): “homo” จากคุณศัพท์ “όμοιος” (โอมิโอส = เหมือน, คล้าย)
  • claustrophobia (อาการกลัวที่แคบ): “claustro” จากคุณศัพท์ “κλειστός” (คลีสโตส = ปิด)

 

ศัพท์ที่มีคำต่อท้าย “-philia” จากคำนาม “φιλία (ฟิลิยา = ความชอบพอ, มิตรภาพ)” เช่น

  • Pedophilia (โรคใคร่เด็ก): “pedo” จากคำนาม “παίδι” (เปดิ = เด็ก)
  • Necrophilia (ความใคร่ต่อศพ): “necro” จากคุณศัพท์ “νεκρός” (เนโครส = เสียชีวิต, ตาย)
  • Neophilia (ความชอบสิ่งใหม่ ๆ): “neo” จากคุณศัพท์ “νέος” (เนโอส = ใหม่, หนุ่มสาว)

 

ชื่อคนในภาษาอังกฤษ เช่น

  • Zoe/Zoey จากคำนาม “ζωή” (โซอี = ชีวิต)
  • Thea จากคำนาม “θέα” (เตอา = ทิวทัศน์)
  • Sofia/Sophia จากคำนาม “σοφία” (โซฟีอา = ภูมิ, ปัญญา)

 

ชื่อศาสตร์แขนงต่าง ๆ เช่น

  • Philosophy (ปรัชญา) จากคำนาม “φιλός” (ฟิโลส = เพื่อน) และ “σοφία” (โซฟีอา = ภูมิ, ปัญญา)
  • Anthropology (มานุษยวิทยา) จากคำนาม “άνθρωπος” (อันโตรโปส = มนุษย์) และ “λογός” (โลโกส = เหตุผล, วาทกรรม)
  • Astronomy (ดาราศาสตร์) จากคำนาม “αστέρι” (อาสเตริ = ดาว) และ “νόμος” (โนโมส = กฎ)

 

ทั้งหมดนี้คือเกร็ดน่ารู้ส่วนหนึ่งของตัวอักษรเบตาและภาษากรีกในศัพท์ที่เราอาจรู้จักและพบเห็นกันตามสิ่งต่าง ๆ ทั้งนี้ทั้งนั้น การเรียกคนในเจเนอเรชันต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคนเจนเอกซ์ไล่เรียงมาจนถึงเจนเบตานั้น เป็นเพียงการอ้างอิงถึง “ช่วงเวลา” ที่คนเหล่านี้เกิดมาและ “ความเปลี่ยนแปลง” ที่ต้องเผชิญในยุคสมัยที่เติบโตมา มากกว่าที่จะนิยามถึงอุปนิสัยของพวกเขา

 

อ้างอิง

  • dictionary.cambridge.org
  • Easy Greek 123 l Greece's Forgotten Official Language (Katharevousa)
  • tfex.co.th
  • theculturetrip.com
  • voanews.com

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เด็กยุคใหม่เจนเบตาเจนอัลฟาGen BetaGen Alphaกรีก
พีรชัย พสุทันท์
ผู้เขียน: พีรชัย พสุทันท์

ศิษย์เก่าจากอักษร จุฬาฯ และโปรแกรมอีราสมุส มุนดุสด้านวรรณกรรมยุโรป ผู้ชอบพาตัวเองไป (หลง) อยู่ในกระแสธารของพหุภาษาและพหุวัฒนธรรม และยังคงเรียนรู้ที่จะเติบโตในทุก ๆ วัน I porrorchor.com

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด