ท่ามกลางการตั้งคำถามว่า สว. มีไว้ทำไม และกระบวนการสรรหา สว. ครั้งนี้จะเดินหน้าไปสู่จุดไหน เพราะด่านที่ต้องผ่านนั้นมีมากมาย นอกจากกระบวนการที่ยากและซับซ้อนที่สุดเท่าที่เคยมีมาแล้ว ยังถูกจับตาว่าเงื่อนไขต่าง ๆ อาจทำให้เรามุ่งไปสู่การ "ล้ม - เลิก - เลื่อน"
ประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานี ให้ความสนใจมาขอรับใบสมัครสมาชิกวุฒิสภา ส่วนหนึ่งบอกว่า แม้จะไม่ได้รับคัดเลือกเป็น สว. แต่ก็อยากมีส่วนในการเลือกคนที่จะเป็น สว. ขณะที่ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มองว่า วิธีการเลือก สว. แบบใหม่เป็นจุดอ่อนที่อาจเอื้อให้เกิดการล็อบบี้ หรือ ฮั้วกัน
ก่อนมีพระราชกฤษฎีกาเลือก สว.200 คน องค์กรภาคประชาสังคม อย่าง "ไอลอว์" หรือโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน จัดเวที "แคนดิเดต สว.ขอพูด" เพื่อสร้างพื้นที่แนะนำตัวต่อสาธารณะ และนำเสนอความฝันที่อยากจะเห็นจาก สว. นอกจากนั้น ยังจัดจำลองการเลือก สว.ในแบบเลือกไขว้ 20 กลุ่มวิชาชีพ
ข้อกังวลที่แต่ละฝ่ายเฝ้ามองมากที่สุด หนีไม่พ้นการป้องกันไม่ให้เกิดการทุ่มทรัพยากร หรือฮั้วกันของกลุ่มอิทธิพล เพื่อผลักดันบุคลากรของตัวเองเข้าไปนั่งในตำแหน่ง สว. ที่มีอำนาจขยับโครงสร้างสำคัญของประเทศได้ ปัญหาคือ กกต. จะบังคับใช้กฎระเบียบของตัวเองยังไง และกฎระเบียบเหล่านั้นออกแบบอย่างรอบคอบรัดกุมพอแล้วหรือยัง ติดตามการวิเคราะห์ได้จาก ประจักษ์ มะวงศ์สา