ผลกระทบฝนตกหนักในหลายจังหวัด

ภูมิภาค
27 ก.ค. 55
07:50
14
Logo Thai PBS
ผลกระทบฝนตกหนักในหลายจังหวัด

แม้ว่าพายุวีเซนเต จะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ แต่ในหลายพื้นที่ของประเทศ ยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคเหนือ ส่วนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีลมแรง พัดต้นไม้ใหญ่หักโค่น

เจ้าหน้าที่กู้ภัยใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง เคลื่อนย้ายต้นไม้ขนาดใหญ่ ที่หักโค่นกีดขวางการจราจรบนถนนสายศรีสะเกษ-อำเภอกันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ หลังฝนตกหนักและลมกระโชกแรงเมื่อคืนที่ผ่านมา

จังหวัดบึงกาฬได้รับอิทธิพลของพายุทำให้น้ำเหนือไหลลงมาสมทบและระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้น ส่งผลดีกับชาวนาที่เริ่มปักดำนาในช่วงนี้

ขณะที่หลายจังหวัดเตรียมแผนรับมือน้ำท่วม เช่น ที่จังหวัดยโสธรเร่งปรับพื้นที่เพื่อก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งทรุด ระยะทางกว่า 200 เมตร ริมแม่น้ำชี บ้านคุยสำโรง ต.เขื่องคำ อ.เมือง หลังหมู่บ้านแห่งนี้ได้รับผลกระทบจากปัญหาตลิ่งทรุด ชาวบ้านกว่า 10 ครอบครัว ต้องย้ายบ้านหนี

ที่จังหวัดมหาสารคาม หน่วยงานภาครัฐซ้อมแผนรับมือน้ำท่วมที่ริมฝั่งแม่น้ำชี บ้านโขง ใน อ.กันทรวิชัย เพื่อที่จะสามารถให้การช่วยเหลือได้ทันท่วงทีเมื่อเกิดเหตุ

ส่วนที่ ต.เกยไชย อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน ไหลมาบรรจบกันซึ่งมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ชาวบ้านเตรียมขนย้ายทรัพย์สิน และเตรียมเรือใช้สัญจรเมื่อถูกน้ำท่วม

ที่จังหวัดตากมีฝนตกอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ อ.อุ้มผาง ทำให้ชาวบ้านแม่กลองเก่าและบ้านใหม่ป่าคา ต.แม่กลอง อ.อุ้มผาง กว่า 400 ครอบครัว ได้รับความเดือดร้อน เพราะน้ำประปาขุ่นแดง ไม่ส่ามารถสูบน้ำจากลำห้วยไปกรองให้สะอาดได้ ส่วนชาว อ.แม่สอด เร่งนำกระสอบทรายไปกั้นหน้าร้านเพื่อป้องกันน้ำท่วม

ส่วนที่จังหวัดพะเยาซ้อมแผนป้องกันน้ำป่าดินโคลนถล่ม เพื่อเตรียมรับสถานการณ์น้ำท่วม พราะยังมีฝนตกในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะการให้ความรู้ถึงวิธีการช่วยเหลือผู้ประสบภัย

ขณะที่ในจังหวัดพิษณุโลก ยังคงเร่งขุดแนวตลิ่งแม่น้ำยม บริเวณบ้านกรุงกรัก ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ เพื่อเพิ่มความกว้างลดแรงกัดเซาะตลิ่ง เนื่องจากถูกกระแสน้ำเซาะ เสียหายทุกปี หากโครงการนี้แล้วเสร็จ คาดว่าจะบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านได้

ส่วนที่จังหวัดพิจิตร ชาวนาหมู่ 2 ต.ายคำโห้ อ.เมือง จ.พิจิตร ช่วยกันปักดำกล้าเผือกน้ำ ซึ่งเป็นพืชทนน้ำในแปลงนาข้าว เพื่อสร้างรายได้ในช่วงที่ถูกน้ำท่วม เพราะเผือกเป็นพืชที่ชอบน้ำและทนต่อน้ำท่วมขัง จึงนำมาปลูกแทนข้าวในช่วงน้ำท่วม ซึ่งเป็นอีกวิธีในการปรับตัวของชาวบ้าน เพราะคาดว่าน้ำจะเข้าท่วมพื้นที่ในสัปดาห์หน้า


ข่าวที่เกี่ยวข้อง