"ซีพีเอฟ" พร้อมพิสูจน์ข้อเท็จจริง ไม่ใช่ต้นเหตุการระบาด "ปลาหมอคางดำ"

สิ่งแวดล้อม
6 ก.ย. 67
15:37
1,490
Logo Thai PBS
"ซีพีเอฟ" พร้อมพิสูจน์ข้อเท็จจริง ไม่ใช่ต้นเหตุการระบาด "ปลาหมอคางดำ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ซีพีเอฟทำหนังสือแจงสื่อ หลังถูกฟ้องเรียกค่าเสียหาย 2.4 พันล้านบาทวานนี้ ว่าเป็นต้นเหตุการระบาดของปลาหมอคางดำระบาด ระบุพร้อมเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ข้อเท็จจริง ด้าน กาย-ณัฐชาชี้เมื่อรัฐแก้ไขได้ไม่มีประสิทธิภาพ แนะให้เกษตรกรมรวมกลุ่มฟ้องแพ่งเอง

อ่านข่าว : ฟ้องเอาผิด “ปลาหมอคางดำ” ระบาด เรียกค่าเสียหาย 2.4 พันล้าน

วันนี้ (6 ก.ย.2567) บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF ส่งข้อมูลข่าวไปยังสื่อว่า หลังจาก กลุ่มชาวประมง จ.สมุทรสงคราม และสภาทนายความ ยื่นฟ้องทางแพ่ง เพื่อเรียกค่าเสียหายชดใช้การนำเข้าปลาหมอคางดำ CPF ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อสอบข้อเท็จจริง ตั้งแต่เริ่มการริเริ่มแนวคิดการศึกษาตั้งแต่ปี 2549 จนกระทั่งยุติความคิดที่จะทำการวิจัยในเรื่องนี้ เมื่อต้นปี 2554 และยืนยันว่าไม่ใช่ต้นเหตุของการระบาด พร้อมเข้าสู่กระบวนการเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามที่ถูกกล่าวหา และเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมที่ก่อให้เกิดการข้อเท็จจริงอย่างถูกต้องตามกระบวนการทางกฎหมาย

สส.ณัฐชา รับแนะเกษตรกรรวมกลุ่มฟ้องแพ่ง

ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ในฐานะรองประธานอนุกรรมาธิการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ สภาผู้แทนราษฎร ให้ข้อมูลว่า นี่คือวิธีการที่คณะอนุกรรมาธิการ แนะนำให้ประชาชนรวมกลุ่มกันฟ้อง เพราะการดูแลแก้ไขปัญหาจากภาครัฐ ไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทันต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น และนี่เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น

การรวมตัวฟ้องแพ่งครั้งนี้ เป็นการรวมตัวของชาวบ้านจากจังหวัดสมุทรสงครามเพียงจังหวัดเดียว แต่การระบาดของปลาหมอคางดำ ตอนนี้มี 19 จังหวัดแล้ว โดยกรมประมงได้ออกประกาศลงราชกิจจานุเบกษา กำหนดพื้นที่การระบาดปลาหมอคางดำ ปี 2567 ลงวันที่ 14 ส.ค.2567 ไว้ 19 พื้นที่ด้วยกัน ตั้งแต่ จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ นนทบุรี กรุงเทพ นครปฐม ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ นครศรีธรรมราช สงขลา ชลบุรี พัทลุง และ ปราจีนบุรี

แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดแค่ต่อเกษตรกรที่ทำบ่อปลา-บ่อกุ้ง หรือประมงที่ทำให้กระทรวงเกษตรตกเป็นเจ้าภาพหลักที่ถูกเรียกร้องให้จัดการปัญหาเท่านั้น แต่ความเสียหายจากปลาหมอคางดำ ยังเกิดกับ ระบบนิเวศ กับความหลากหลายทางชีวภาพด้วย คนที่อาศัยแหล่งน้ำธรรมชาติ จับปลาในห้วยหนองคลองบึง พลอยได้รับผลกระทบ ประชาชนทุกคนเดือดร้อนไปด้วย

ดังนั้น รองประธานอนุกรรมาธิการฯ จึงมองว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ก็ต้องลงมาดูแล ต้องเป็นโจทย์ฟ้อง ในฐานะผู้ดูแทรัพยากรธรรมชาติ แล้วถ้าทำไม่ได้ก็ต้องรับผิดชอบว่าจะคืนทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างไร ซึ่งหลังจากนี้จะมีการรวมตัวกันของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากความสูญเสียทรัพยากรสิ่งแวดล้อม มาร่วมฟ้องด้วย นอกเหนือจากเกษตรกร เพราะที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐยังไม่เทคแอกชัน

ด้าน ดร.สันติ แสงเลิศไสว รองศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้หลักคิดว่า การประเมินมูลค่าความเสียหาย ทำได้ด้วยวิธี

  1. วิเคราะห์ประโยชน์ที่เคยได้รับมีอะไรบ้าง เช่น จับปลาไปขายได้อย่างไร
  2. ผู้ที่ได้รับความเสียหาย หรือคนที่เคยได้รับประโยชน์เป็นใคร
  3. ประเมินมูลค่าความเสียหายในทางเศรษฐศาสตร์
  4. วิเคราะห์ค่าใช้จ่ายและระยะเวลาที่ต้องใช้ฟื้นฟูให้กลับมาสภาพเดิม หรือใกล้เคียงเดิม รวมทั้งคิดมูลค่าจากประโยชน์ที่เคยได้รับ และค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูกับระยะเวลาให้กลับมามีสภาพดังเดิม

สส.ณัฐชา ยังบอกว่า หลังจากนี้จะต้องตามต่อเรื่องการคิดค่าเสียหายจากหน่วยงานภาครัฐให้ครอบคลุมความเสียหายที่เกิดต่อสิ่งแวดล้อมต่อ แต่ที่ผ่านมา ที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่าง เหตุเรือน้ำตาลล่ม การคิดค่าเสียหายของภาครัฐก็ดูจะหละหลวม ประมาณการณ์คร่าว ๆ ทำให้ศาลก็ไม่รับฟัง

แต่ในกรณีปลาหมอคางดำ ณัฐชา บอกว่ามีการประเมินจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ประเมินไว้ว่า มูลค่าความเสีย 1 ตำบล 100 ล้านต่อปี ความเสียหาย 10 ปี 10,000 ล้าน แต่หน่วยงานรัฐกลับไม่ทำอะไรเลย กระทั่งประเมินความเสียหายยังไม่ทำ จนประชาชนต้องเดินหน้าทำเอง

เมื่อภาครัฐยังไม่ทำอะไร ก็ไม่น่าแปลกที่เมื่อวานนี้ ทีมสภาทนายความในฐานะตัวแทนชาวบ้านจำนวน 54 คน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการระบาดของปลาหมอคางดำ นำสำนวนคดียื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้ง 18 ราย ในความผิดฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่

พร้อมขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษา ให้ "จำเลย" ประกอบไปด้วย คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย และ กระทรวงการคลัง อาศัยอำนาจ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ประกาศให้พื้นที่ 19 จังหวัด ให้เป็นพื้นที่ประสบภัยและประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินเพื่อดำเนินการเยียวยาความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของปลาหมอคางดำ

อ่านข่าว : ดักจับ "ปลาหมอคางดำ" ในคลองสมุทรปราการ ได้มากกว่า 1 ตัน

นโยบายเพื่อไทย จาก "เศรษฐา" ถึง "แพทองธาร"

"6 ทุ่งรับน้ำ" พื้นที่กันชน-กักน้ำ-ระบายน้ำ ของอยุธยา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง